ตรวจสอบเครน,ปั้นจั่น,ลิฟต์และออกใบ ปจ.1 ,ปจ.2
ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตราฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย
อาชีวอนามัยและสภาพแวคล้อมในการทำงานเกียวกับเครื่องจักร ปั่นจั่น พศ. 2552 ให้ความหมาย ” ปั้นจั่น ” ไว้ว่า เครื่องจักรที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่งและเคลื่อนย้ายสิ่งของเหล่านั้นในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ ซึ่งหมายถึง เครน ที่เราจะกล่าวถึงในหัวข้อนี้ครับ ตามหลักเราแบ่งเครนเป็น 2 ชนิด
1 แบบเคลื่อนที่ หมายถึง รถเครน รถเฮี๊ยบ เรือเครน บางท่านอาจสงสัยว่ารถเฮี๊ยบ คือรถอะไร รถเฮี๊ยบหมายถึง รถบรรทุกติดเครน ที่เห็นกันบ่อยๆก็ใช้ยกพวกเสาเข็มปูน หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ส่วนที่ว่าทำไม่เรียกรถเฮี๊ยบเพราะสมัยก่อนรถยี่ห้อ hiab จึงเรียกติดปากกัน
2 แบบไม่เคลื่อนที่ หมายถึง เครนหรือรอก ที่ใช้ในโรงงาน หรือสถานที่ติดเครนเพื่อยกสิ่งของ สามารถเคลื่อนที่ได้เฉพาะในรางหรือจุดที่กำหนดได้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุประเภทการใช้งาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ประเภทที่ 1 ปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้าง ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกําหนดไม่เกิน 3 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก ๆ 6 เดือน ขนาดพิกัดยกมากกว่า 3 ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและ อุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก ๆ 3 เดือน
ประเภทที่2 ปั้นจั่นที่ใช้งานอื่น ๆ
ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกําหนดตั้งแต่ 1 ตัน แต่ไม่เกิน 3 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นปีละ 1 ครั้ง
ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยมากกว่า 3 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 6 เดือน
ขนาดพิกัดยกมากกว่า 50 ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบ และอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก ๆ 3 เดือนการตรวจสอบเครน หลักสำคัญคือ น้ำหนักทดสอบหรือเรียกว่า load test ซึ่งกฎหมายระบุไว้ว่าจะเป็นการใช้น้ำหนักจริง
น้ำหนักจริง หมายถึง ตุ้มน้ำหนักที่มีน้ำหนักตามพิกัดกำหนดเพื่อใช้ในการทดสอบ เช่น ตุ้มน้ำหนัก 500 kg 1000 kg หรือสิ่งของในการผลิตที่มีน้ำหนักมากกว่าที่จะยกจริงให้เท่ากับน้ำหนัก load test
คราวนี้ก็มาถึงน้ำหนักที่ใช้ทดสอบ กฎหมายระบุชัดเจนว่า
(ก) ปั้นจั่นใหม่ ก่อนจะนํามาใช้งานให้ทดสอบการรับน้ําหนักดังนี้
๑) ขนาดไม่เกิน 20 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ําหนักที่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 1.25 เท่าของพิกัดยกอย่างปลอดภัย
๒) ขนาดมากกว่า 20 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ําหนักเพิ่มอีก5 ตัน จากพิกัดยกอย่างปลอดภัย
(ข) ปั้นจั่นที่ใช้งานแล้ว ให้ทดสอบการรับน้ําหนักที่ 1.25 เท่าของน้ําหนัก ที่ใช้งานจริงสูงสุดโดยไม่เกินพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกําหนด กรณีไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยที่ผู้ผลิตกําหนด ให้ทดสอบการรับน้ําหนักตามที่วิศวกรกําหนดน้ําหนักที่ใช้ทดสอบการยก อาจใช้การทดสอบด้วยน้ําหนักจริง หรือทดสอบด้วยน้ําหนักจําลอง (Load Simulation)
ตัวอย่างที่ 1 ปั่นจั่นที่ผู้ผลิตออกแบบไว้ที่ 10 ตัน ใช้งานจริงสูงสุด 6 ตัน จะต้องทดสอบที่ 6 * 1.25 จะเท่ากับ 7.5 ตัน ดังนั้น ต้องทดสอบการรับน้ำหนักที่ 7.5 ตัน
ตัวอย่างที่ 2 ปั่นจั่นที่ผู้ผลิตออกแบบไว้ที่ 10 ตัน ใช้งานจริงสูงสุด 9 ตัน จะต้องทดสอบที่ 9 * 1.25 จะเท่ากับ 11.25 ตัน แต่เนื่องจากเกินกว่าน้ำหนักที่ผลิตออกแบบไว้ ดังนั้น ต้องทดสอบการรับน้ำหนักที่ 10 ตัน
กฎหมายความปลอดภัยปั้นจั่น
– กฎกระทรวง การทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นปั้นจั่น
– กฎหมายทดสอบปั้นจั่น Load test
– ปจ.1 , ปจ.2
– ประกาศกรมฯ อบรมผู้บังคับปั้นจั่น